9 กรกฎาคม 2558

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (ในHaru wo daiteita - winter cicada)




จากยุคเอโดะเปลี่ยนเป็นยุคเมจิ



         สวัสดีค่ะ  เนื่องจากHaru wo daiteita ตอนพิเศษ winter cicada ที่เพิ่งแปลไปนั้น ได้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น ตอนเรียนเนื่องจากทามะเรียน เอกภาษาญี่ปุ่น ก็ได้เรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาแบบจัดเต็มเลยค่ะ แต่ลืมเกือบหมดแล้ว ได้แปลตอนนี้ก็เหมือนได้ทบทวนประวัติศาสตร์เลยค่ะ

         เนื้อหาในตอน extra นี้ไม่ได้พูดเท้าความถึงเนื้อหาของเหตุการณ์(ประวัติศาสตร์)เท่าไหร่ เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันอยู่แล้ว  แค่เกริ่นเรื่องนิดหน่อยเค้าก็ร้องอ๋อๆกันแล้ว แต่คนไทยเรานี่สิ  อ่านไปจะไม่ฟินเท่าเค้า เพราะงั้นทามะเลยจะมาบอกเล่าประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นให้ฟังคร่าวๆค่ะ จะได้เป็นการ"อ่านการ์ตูนแล้วได้ความรู้"ด้วย อีกอย่างข้อสำคัญเลย! เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่และความรู้สึกของอาคิซึกิซังและคุซากะ รวมถึงเหตุผลของการกระทำต่างๆของตัวละครได้มากขึ้น เราอ่านแล้วจะอินมากขึ้นนั่นเอง พอทราบประวัติศาสตร์แล้ว ทุกคนลองไปอ่านตอนพิเศษนี้อีกรอบก็ดีนะคะ 


*แค่เฉพาะที่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องนะคะ




ยุคเอโดะ

         ในเนื้อเรื่องเป็นช่วงยุคเอโดะเปลี่ยนเป็นยุคเมจิ เพราะงั้นเราจะพูดถึงแค่ช่วงยุคเอโดะกันค่ะ ละครย้อนยุคหรือการ์ตูนย้อนยุคของญี่ปุ่นที่เราเห็นบ่อยๆส่วนใหญ่แล้วเป็นยุคเอโดะทั้งสิ้นค่ะ เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่โดดเด่นจากยุคอื่นจริงๆในช่วงยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) เป็นยุคที่มีการปกครองโดยโชกุนค่ะ(ตระกูลโทคุงาวะ) เดิมทีประเทศญี่ปุ่นมีการปกครองโดยจักรพรรดิเช่นเดียวกับกษัตริย์ของไทยค่ะ  แต่ในยุคเอโดะนั้นจักรพรรดิกลับหมดอำนาจลง อำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นอยู่กับโชกุนทั้งหมดซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูดสุดของญี่ปุ่นค่ะ

         ได้มีการตั้งรัฐบาลของโชกุนที่เรียกว่า “บาคุฟุ” ขึ้น เรียกว่าเป็นกองทัพทหารที่แข็งแกร่งและไม่มีใครกล้าสู้เลยทีเดียว คนที่เข้าร่วมบาคุฟุเรียกว่า “บาคุชิน” เป็นทหารรับใช้ตรงของโชกุน ซึ่งก็คือตำแหน่งของอาคิซึกินั่นเองค่ะ ในช่วงที่ยุคของโชกุนรุ่งเรืองเป็นตำแหน่งที่เท่และน่ายำเกรงมาก คล้ายๆกับเป็นทั้งตำรวจทั้งทหารที่ใครๆก็เกรงใจค่ะ แถมยังขึ้นตรงกับท่านโชกุนผู้ยิ่งใหญ่โดยที่ต้องไม่ผ่านใครเลย




การปิดประเทศ ค.ศ.1639

         สิ่งที่โดดเด่นของยุคเอโดะอีกอย่างคือการปิดประเทศในช่วงปีค.ศ.1639ค่ะ มีการยกเลิกการค้ากับทุกประเทศ ยกเว้นประเทศจีนและฮอลันดาเฉพาะที่เมืองนางาซากิเท่านั้น การปิดประเทศในครั้งนั้นมีผลเสียในอีกหลายร้อยปีต่อมาคือเทคโนโลยีในญี่ปุ่นไม่ได้รับการ
พัฒนาเลย ทำให้พ่ายแพ้ต่ออเมริกาที่นำเรือรบยักษ์มาบังคับเปิดประเทศค่ะ

         แต่ข้อดีนั้นก็มีมากมาย  จากการปิดประเทศในครั้งนั้นทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่รับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก รวมถึงไม่มีวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาทำให้ความเป็นญี่ปุ่นเปลี่ยนไป  ญี่ปุ่นจึงได้พัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง เป็นแบบวิถีญี่ปุ่นแท้ๆอย่างเต็มที่  ทำให้ทุกวันนี้วัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงได้อีกเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและน่าหลงใหลค่ะและในที่สุดมีการเปิดประเทศในปี ค.ศ.1854 จากการบังคับของประเทศฝั่งตะวันตก




ช่วงปลายยุคเอโดะ&เปลี่ยนจากยุคเอโดะเป็นยุคเมจิ&สงครามโบชิน

         จากการเปิดประเทศ ทำให้กลุ่มคนที่ไม่พอใจออกมาต่อต้านชาวต่างชาติและรัฐบาลโชุกุนที่ยอมให้เปิดประเทศ รวมถึงตัวจักรพรรดิได้พยายามเข้ามามีอำนาจในการปกครองอีกครั้ง
และในช่วงปีค.ศ.1863 จักรพรรดิก็ได้มีการออกพระราชโองการขับไล่ชาวต่างชาติขึ้นพระราชโองการนั้นเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการต่อต้านชาวต่างชาติและรัฐบาลโชกุนที่ยอมให้เปิดประเทศค่ะ

         เกิดการฆ่าพ่อค้าชาวต่างชาติและโจมตีเรือส่งสินค้าของชาวต่างชาติ  ทำให้รัฐบาลโชกุนต้องจ่ายสินใหม่ทดแทนแก่ชาวต่างชาติถึง100,000 ปอนด์ในช่วงปีค.ศ.1864 ชาวต่างชาติได้ใช้กำลังทหารออกมาโต้ตอบ ทำให้แคว้นโจชู(แคว้นของคุซากะ)ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมามาแต่ไหนแต่ไรไม่พอใจจึงก่อกบฏเข้ายืดเมืองหลวงเกียวโตเพื่อเป็นการทวงคืนอำนาจ แต่ก็พ่ายแพ้

         บาคุฟุได้ยกทัพไปลงโทษแคว้นโจชูทำให้เกิดความต่อต้านจากแคว้นโจชูมากขึ้น  ภายหลังได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกทำให้โชกุนประกาศจะยกทัพไปปราบแคว้นโจชูในข้อหาทรยศ (การทวงคืนอำนาจและการปราบปรามโจชูที่ไอซาวะพูดถึงในเนื้อเรื่อง) สิ่งนั้นได้กระตุ้นให้แคว้นโจชูลักลอบเป็นพันธมิตรกับแคว้นซาสึมะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลโชกุนเช่นกัน และในภายหลังทั้งสองแคว้นก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มกองกำลังของจักรพรรดิและเข้าโจมตีโชกุน  

         โชกุนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่หมดหวังของตัวเอง จึงได้ยอมจำนนสละตำแหน่งและคืนอำนาจทั้งหมดให้กับจักรพรรดิค่ะ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการประนีประนอมแต่เรื่องกลับไม่จบแค่นั้น กลับมีพระราชโองการปลอมให้แคว้นโจชูและแคว้นซาสึมะล้มล้างตระกูลโชกุนซะ จึงทำให้อดีตโชกุนต้องเปิดฉากการรบเพื่อยึดราชสำนักของพระจักรพรรดิที่เกียวโต (สงครามกลางเมืองครั้งนี้เรียกว่า สงครามโบชิน) กว่าจะรู้ว่าราชโองการปลอมก็สายไปแล้วค่ะ กองทัพของโชกุนไม่สามารถต่อสู้กองกำลังของจักรพรรดิได้ หลังจากพ่ายแพ้

         ทหารรับใช้ของโชกุนส่วนหนึ่งได้อพยพไปยังเกาะเอโซะทางด้านเหนือสุดของญี่ปุ่น(ฮอกไกโดก่อนบุกเบิก) ทหารรับใช้ของโชกุนได้มีการพยายามครั้งสุดท้ายโดยการถวายฎีกาไปยังราชสำนักของจักรพรรดิ เพื่อขอโอกาสพัฒนาเกาะเอโซะและรักษาขนบธรรมเนียมของซามูไรไว้ต่อไป แต่กลับภูกปฏิเสธ  ในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1868 จึงได้มีการประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง สถาปนาสาธารณรัฐเอโซะ ซึ่งมีโครงสร้างการปกครองที่ยึดตามแบบของ
สหรัฐอเมริกา  แต่ต่อมาก็ถูกกองกำลังของจักรพรรดิทำลายไป สงครามครั้งสุดท้ายนั้นเรียกว่าสงครามฮาโกดาเตะ (ซึ่งก็คือสงครามที่คุซากะออกตามหาอาคิซึกิ และแอบลับลอบพาตัวออกมา
นั่นเองค่ะ)

         ในภายหลังได้มีการล้มเลิกการขับไล่ชาวต่างชาติให้ออกไปจากญี่ปุ่นและด้วยการยืนกรานของผู้นำคนสำคัญของฝ่ายสนับสนุนจักรพรรดิ ฝ่ายผู้ภักดีต่อโชกุนจึงได้รับการอภัยโทษ และในเวลาต่อมาอดีตผู้นำในรัฐบาลโชกุนหลายคนจึงได้รับตำแหน่งรับผิดชอบงานภายใต้รัฐบาลใหม่




เซ็ปปุกุ (หรือการฮาราคีรี)

         ค่านิยมอีกอย่างที่ปรากฎชัดในเนื้อเรื่องคือการเซ็ปปุกุนั่นเองค่ะ(หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อฮาราคีรี) เนื่องจากตัวเอกในเรื่องได้ตายด้วยวิธีนี้จึงขอพูดถึงซักหน่อยค่ะ เซ็ปปุกุคือการตายอย่างมีเกียรติในความเชื่อของซามูไร เป็นการฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้องตัวเอง โดยใช้มีดสั้นแทงที่หน้าท้องใต้เอวขวา แล้วกรีดมาทางซ้ายแล้วดึงมีดขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นการเปิดเยื่อบุช่องท้องแล้วตัดลำไส้ให้ขาด ต้องใช้ความกล้าหาญและความสามารถในการบังคับจิตใจของตนเองอย่างมากถึงจะทำได้  หลังจากนั้นซามูไรอีกคนหนึ่งจะใช้ดาบซามูไรตัดศรีษะจนขาด

ถาม : ทำไมถึงต้องมีคนตัดศรีษะอีกทีนึง
ตอบ : นั่นก็เพราะว่ามันเจ็บปวดมากๆค่ะ เพื่อไม่ให้ต้องทรมานด้วยความเจ็บปวดมากเกินไปจึงต้องมีเพื่อนหรือใครซักคนช่วยตัดศรีษะให้อีกที

ถาม : ทำไมต้องเป็นที่ท้อง ทำไมไม่ตัดหัวตัวเองตั้งแต่แรก
ตอบ : เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าท้องเป็นจุดศูนย์รวมของร่างกายค่ะ และอีกอย่างที่คนไทยไม่ค่อยรู้คือ ในญี่ปุ่น คำว่า "ฮาราคีรี"ถือเป็นคำหยาบและไม่เคารพต่อผู้กระทำเซ็ปปุกุค่ะ อารมณ์เดียวกับที่เรียกคนญี่ปุ่นว่า “ยุ่น” นั่นเอง





END







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น